top of page

ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าตัดปลูกถ่ายตับ

การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ

1. การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ให้ถูกต้อง ตรงเวลา ไม่ปรับยารับประทานเองเพื่อป้องกันการเกิดภาวะปฏิเสธตับใหม่ ถ้ายังไม่ได้รับประทานยากดภูมิคุ้มกันควรเก็บยาไว้ในแผงอลูมิเนียม ห้ามลืมรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน (ถ้าเกิน 6 ชั่วโมงไม่ต้องรับประทานยามื้อนั้นซ้ำ)

2. การป้องกันการติดเชื้อ
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาล้างมือหรือสบู่ ควรล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ตลาด โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ควรใส่หน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูกเวลาออกไปนอกบ้าน
- หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ เช่น เป็นไข้  โรคสุกใส วัณโรค โรคปอด ไอเรื้อรัง เป็นต้น    
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อต้องออกจากบ้าน ไม่ควรให้เท้าสัมผัสกับดินโดยตรงเพื่อป้องกันเชื้อโรค
 

3. การรับประทานอาหาร และการดื่มน้ำ
- ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สุกใหม่ สะอาด  
- ไม่ควรรับประทานผักสด ควรปรุงให้สุกทุกครั้ง ก่อนนำมาปรุงอาหารควรล้างโดยแช่น้ำ ประมาณ 30 นาที ล้างผ่านน้ำ ผลไม้ให้ปอกเปลือกก่อนรับประทานเพื่อลดยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนอยู่ที่เปลือก หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก
งดรับประทานส้มโอ ส้มเช้ง เกรพฟรุ๊ต ทับทิม เพราะอาจมีผลต่อการดูดซึมของยากดภูมิคุ้มกัน  
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง  เช่น ไขมันสัตว์  เนยสด  เนยเทียม  กะทิ  น้ำมันมะพร้าว  อาหารทอดน้ำมัน เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตัน   
- ควรใช้น้ำมันพืชประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก เป็นต้น นมที่ดื่มควรเป็นนมพร่องมันเนยหรือนมถั่วเหลืองหวานน้อย
- ควรดื่มน้ำที่สะอาด สามารถดื่มได้ตามปกติหากไม่มีข้อจำกัดการดื่มน้ำ
- งดการดื่มสุรา ชา กาแฟ และงดสูบบุหรี่ 

4. การพักผ่อน  ควรพักผ่อนให้เพียงพอประมาณ  6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติ ห้ามยกของหนัก ในช่วง 3 เดือนแรกหลังการผ่าตัด ถ้าเป็นงานหนักหรืองานที่เสี่ยงอันตรายควรหลีกเลี่ยง

5. การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยการเดินหรือวิ่งเหยาะๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีความรุนแรงหรือมีการกระทบกระแทกรุนแรงในช่วง 3 เดือนแรก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น

6. อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ก่อนนัดหรือโทรสอบถามก่อน ดังนี้
- มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ ถ่ายอุจจาระเหลวติดต่อกันมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปวดแสบขณะถ่ายปัสสาวะ
- ตา-ตัวเหลืองมากขึ้น มีอาการสับสน
- มีหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออก คล้ายน้ำตาลในเลือดต่ำ
- แผลผ่าตัดมีสิ่งคัดหลั่งที่ผิดปกติซึมออกมา เช่น หนอง เลือด เป็นต้น
- มีบวมตามตัว เช่น เปลือกตา มือและเหนือข้อเท้า กดบุ๋มที่หน้าแข้งหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น 0.5 -1 กิโลกรัม/วัน ปัสสาวะออกน้อยลง โดยน้อยกว่า 500 มิลลิลิตรต่อวัน
- อาการหายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายขึ้น  
- ถ้ามีไข้หวัด หลอดลมอักเสบ เริมหรืองูสวัด ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ที่รักษาทันที ในกรณีที่ไม่สามารถมาพบแพทย์ที่ดูแล ให้ไปพบแพทย์โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดให้แพทย์ทราบว่าได้ปลูกถ่ายตับและรับประทานยาอะไรอยู่
- ถ้ามีปัญหาในช่องปาก เช่น ฟันผุ หรือเหงือกอักเสบ  ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบและรีบปรึกษาทันตแพทย์

7. การมาตรวจตามแพทย์นัด ควรมาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ  ในการมาตรวจทุกครั้งผู้ป่วยจะต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของตับและไต ตรวจหาระดับยากดภูมิคุ้มกัน เมื่อต้องเจาะระดับน้ำตาลในเลือด ให้งดอาหาร ยกเว้นน้ำเปล่า 6 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือดโดยเจาะเลือดก่อนรับประทานยาทุกตัว รวมทั้งยาฉีดอินซูลินในช่วงเวลา 6.30 - 7.00 น. ของวันที่นัด ณ ตึกอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา ชั้น 1  จากนั้นรับประทานอาหารเช้า  และรอตรวจที่ตึก 84 ชั้น 2 สำนักงานเปลี่ยนอวัยวะ เวลา 12.00 น. ในการมาตรวจทุกครั้งต้องนับจำนวนยา และนำยามาด้วย เพื่อความสะดวกในการสั่งยาครั้งต่อไป

เอกสารข้อมูลการดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยหลังปลูกถ่ายอวัยวะ

Health Education Transplant 2024.png
bottom of page