-
ถ้าหากลืมรับประทานยากดภูมิต้านทาน ต้องทำอย่างไร
ตอบ ยาที่รับประทานวันละ 2 ครั้ง หากนึกได้ภายใน 6 ชั่วโมงแรกให้รับประทานทันที หากเลยแล้วให้ข้ามไปทานมื้อถัดไป โดยที่ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาที่รับประทานวันละ 1 ครั้ง หากนึกได้ภายใน 12 ชั่วโมงแรกให้รับประทานทันที หากเลยแล้วให้ข้ามไปทานมื้อถัดไป โดยที่ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
-
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับ สามารถรับประทานอาหารเสริม หรือสมุนไพรได้หรือไม่
ตอบ โดยปกติทั่วไปจะไม่แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริม สมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ หรือยาลูกกลอนมาทานเพิ่ม เนื่องจากอาจส่งผลต่อระดับยากดภูมิต้านทานได้
-
การเก็บรักษายากดภูมิต้านทานควรเก็บอย่างไร
ตอบ เก็บอุณหภูมิห้อง ไม่แนะนำให้แกะเม็ดยาออกจากแผงยาแล้วใส่กระปุก หรือใส่ตลับยารวมกัน เนื่องจากจะส่งผลต่อคุณภาพยาได้
-
การวัดระดับยากดภูมิต้านทาน หากมาไม่ทันวัดระดับยา ต้องทำอย่างไร
ตอบ ยากดภูมิที่ต้องมีการติดตามวัดระดับยาส่วนใหญ่ จะแนะนำให้เจาะเลือดวัดระดับยาก่อนทานยาประมาณ 30 นาที จึงจะได้ค่าที่แม่นยำและสามารถแปลผลได้ แต่หากผู้ป่วยมาไม่ทันเจาะเลือดวัดระดับยา ให้รอวัดระดับยาก่อน แล้วจึงค่อยรับประทานยากดภูมิต้านทานหลังจากได้รับการเจาะเลือด
-
ทำไมผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจึงต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
ตอบ ยากดภูมิต้านทานจะออกฤทธิ์โดยการกดการทำงานของภูมิต้านทานในร่างกายไม่ให้ไปทำลายหรือต่อต้านอวัยวะใหม่ ทำให้อวัยวะใหม่ที่แพทย์ปลูกถ่ายสามารถทำงานได้ปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต โดยช่วงแรกหลังปลูกถ่ายตับ แพทย์จะพิจารณาให้ยากดภูมิต้านทานในขนาดสูง เพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะฉับพลัน หลังจากนั้นในระยะยาว แพทย์จะพิจารณาให้ยากดภูมิในขนาดที่เหมาะสมเพียงพอที่จะป้องกันการปฏิเสธอวัยวะได้
-
ข้อควรระวังของผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิต้านทาน
ตอบ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อ เนื่องจาก ผู้ป่วยรับประทานยากดภูมิต้านทาน จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป การติดเชื้อที่พบได้บ่อย เช่น การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ สามารถป้องกันได้โดยสวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่ชุมชน และล้างมือบ่อยๆ นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องการเกิดยาตีกันแบบไม่ตั้งใจ กรณีที่ต้องพบแพทย์สาขาอื่นๆ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ รับประทานยากดภูมิต้านทานอยู่ เนื่องจากยากดภูมิต้านทานมีโอกาสที่เกิดยาตีกันกับยาอื่นๆได้สูง ซึ่งจะส่งผลต่อระดับยากดภูมิต้านทานได้
-
ผลไม้ที่มีรายงานการเกิดอันตรกิริยากับยากดภูมิ มีอะไรบ้าง
ตอบ calcineurin ได้แก่ ส้มโอ ทับทิม เกร๊ปฟรุ๊ต โดยหากรับประทานผลไม้ดังกล่าว อาจส่งผลเพิ่มระดับยากดภูมิต้านทาน จนเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้
-
หากอาเจียนหลังรับประทานยา ควรทำอย่างไร
ตอบ ถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานยากดภูมิต้านทาน หากสามารถมองเห็นเม็ดยาได้สมบูรณ์ ควรเว้นระยะสักครู่ เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้วจึงรับประทานยาเม็ดใหม่ แต่หากไม่แน่ใจว่าอาเจียนยาออกมาด้วยหรือไม่ ไม่แนะนำให้รับประทานยาซ้ำ
-
ผู้ป่วยปลูกถ่ายตับ สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
ตอบ โดยปกติสามารถฉีดวัคซีนที่เป็นเชื้อตายได้ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเชื้อเป็น เช่น วัคซีนป้องกันสุกใสหรืองูสวัด
สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 แนะนำให้ฉีดเพื่อลดโอกาส และความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง รวมถึงแนะนำฉีด Booster dose (เข็ม 3 หรือ เข็ม 4) เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน
-
หากเดินทางไกล ควรมีการเตรียมตัวเรื่องยาที่รับประทานเป็นประจำอย่างไร
ตอบ แนะนำให้พกยาติดตัวไว้ตลอดการเดินทาง พิจารณาพกยาเผื่อไว้หากมีเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากยากดภูมิต้านทานไม่สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไป รวมถึงไม่เก็บยาไว้บนรถยนต์เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงเกินไป จะส่งผลต่อคุณภาพยาได้ หากมีการเดินทางไปต่างประเทศ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากอาจมีความจำเป็นต้องปรับเวลาในการรับประทานยาให้เหมาะสม
-
หากยาสมุนไพรและอาหารเสริมมาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เหตุใดจึงไม่ปลอดภัย
ตอบ เมื่อผลิตภัณฑ์ระบุว่า "มาจากธรรมชาติ" ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัยเป็นธรรมชาติต่อร่างกาย หรือดีสำหรับคุณ แม้ว่าสมุนไพรจะมาจากพืช แต่ก็สามารถส่งผลต่อการทำงานของยาอื่นๆ ในร่างกายได้ ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจมีปฏิกิริยาหรือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของคุณ สิ่งนี้อาจเพิ่มโอกาสที่ร่างกายของคุณปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่าย
-
มีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพหรือสมุนไพรจากธรรมชาติที่สามารถใช้ได้หรือไม่
ตอบ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องการวิตามินหรือแร่ธาตุเสริมหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะได้รับการประเมินโดยทีมปลูกถ่ายอวัยวะของคุณ อาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ปลอดภัยที่จะใช้ตราบเท่าที่ทีมแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะของคุณอนุญาต ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ เภสัชกร หรือทีมปลูกถ่ายอวัยวะของคุณ